วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

เรื่องสั้น ฉ.๒๔๑๙

เรื่องสั้น ฉ.๒๔๑๙

ใจดวงหนึ่ง

กานต์ กีรติ


เรือนไม้ขายน้ำสงบนิ่งอยู่ใต้ร่มเงาของประดู่ใหญ่ใบหนาและมวลไม้หลากพันธุ์ทั้งขนม เงาะ มะพร้าว มะม่วง ทุเรียนซึ่งออกดอกออกผลให้เจ้าของบ้านได้พึ่งพาทั้งปากท้องของตนเอง และแบ่งส่วนที่เหลือไปเจือจานญาติสนิทมิตรสหายก่อนจะนำที่ยังพอมีไปขายที่ตลาดเพื่อเป็นรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ จากรายได้หลักค่าเช่านาที่ต่างจังหวัดซึ่งก็มากเกินพอแล้วสำหรับสองชีวิตที่อยู่กันอย่างสมถะ และมีความรู้สึก “พอ” เต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจ


ในบางครั้งที่ว่างและมีเวลา ทั้งแม่และลูกสาวก็จะช่วยกันทำขนมทั้งทองหยิบ ทองหยอด ปอยทอง ขนมสอดไส้ ฯลฯ ลงเรือไปขายหลังโรงเรียนในละแวกนั้นก่อนโรงเรียนเล็กในตอนเย็น แต่ชาวบ้านร้านถิ่นที่เคยได้ลิ้มชิมรสขนมของยายยี่สุ่นและพวงแสดผู้เป็นลูกสาวก็มักจะรอคอยโอกาสดีๆ เช่นนี้อยู่เสมอ จึงมีบ่อยครั้งที่ขนมจะหมดก่อนโรงเรียนจะเลิกเรียนเสียด้วยซ้ำ


มีพ่อค้าแม่ค้าหัวใสเคยมาขอให้ทั้งสองทำขนมส่งที่ร้านของตนเป็นประจำโดยอ้างกำไรดอกผลที่งดงามน่าตื่นตาตื่นใจ ทว่าสองแม่ลูกก็ปฏิเสธไปอย่างสุภาพเพราะไม่อยากสร้างข้อผูกมัดและที่สำคัญมิได้เห็นว่ารายได้งามๆ นั้นจะก่อสุขให้กับชีวิตที่สงบและเพียงพอแล้วนี้แต่อย่างใด


ลูกชายสามคนของยายยี่สุ่นได้ร่ำเรียนสูงๆ แต่งงานมีเหย้าเรือนแยกตัวไปอยู่ต่างหาก นานๆ จึงจะกลับมาเยี่ยมเยียนแม่และพี่สาว...และมักจะมากันในช่วงที่มวลไม้ออกลูกออกผลสะพรั่งไปทั้งสวน พวกเขาเก็บกอบกันใส่รถใส่ให้มากที่สุดเท่าที่เนื้อที่ของรถจะบรรจุได้


“จะเอาไปฝากเพื่อนที่ทำงาน”


ทุกคนอ้างเมื่อรู้สึกกระดากขึ้นมาเล็กน้อยเพราะมิไดมีส่วนมาดูดำดูดีเลยแม้แต่น้อย และหากช่วงไหนผลไม้ชนิดใดมีราคาแพง พวกเขาก็จะอ้างถึง “เจ้านาย” “ผู้มีพระคุณ” “ญาติฝ่ายภรรยา” ฯลฯ สารพัดสาพันที่พวกเขาจะเอ่ยอ้างได้ แต่พอมารดาเอ่ยปากว่า


“มาเอาไปขายบ้างก็ได้นี่”


พวกเขาจะทำท่าทีแปลกๆ ราวเดียดฉันท์กับอาชีพที่แม่ออกปากนั้น


“ผมเป็นข้าราชการ เป็นเจ้าหน้าที่บริษัทใหญ่ๆ โตๆ จะทำพิเรนทร์อย่างที่แม่บอกได้ยังไง”


ยายยี่สุ่นสงบปากสงบคำ ทั้งที่รู้สึกสะท้อนใจอยู่ลึกๆ อยากบอกลูกๆ เหลือเกินกว่า ก็อาชีพค้าขายผลหมากรากไม้และค่าเช่านาไม่กี่มากน้อยน่ะแหละที่เลี้ยงพวกเจ้ามาจนโต ได้ร่ำเรียนสูงๆ ได้งานทำที่ดีๆ มีครอบครัวและมีความสุขอยู่ทุกวันนี้ แต่อย่างไรก็ตามแม่ก็มิได้ต้องการให้ลูกๆ สืบทอดอาชีพคนสวนเหมือนพ่อและแม่รวมทั้งพี่สาวซึ่งเลือกจะลาออกจากโรงเรียนมาช่วยแม่ทำงานเมื่อพ่อตายจากไปเพื่อส่งเสียน้องชายทั้งสามให้ร่ำเรียนจนเป็นใหญ่เป็นโต


ยายยี่สุ่นดีใจและสุขใจที่ลูกๆ ของเราได้ดีและมีความสุข การมาเยี่ยมเยียนของลูกไม่ว่าจะในลักษณะการเช่นใด แกก็พอใจและรับพฤติกรรมหลากหลายนั้นได้เสมอ


จะมีบ้างก็คือความรู้สึกสะเทือนใจที่แกไม่อาจส่งเสียให้ลูกทุกๆ คนได้ดิบได้ดีเหมือนๆ กัน แต่คราใดที่ยายยี่สุ่นปรารภกับลูกสาว แกก็จะได้คำตอบปลอบโยนกลับมาเสมอ


“หนูสมัครใจลาออกเองนี่แม่...แม่ไม่ได้บังคับหนูสักหน่อย...ตอนนั้นพ่อเสียใหม่ๆ น้องๆ ก็ยังเล็กถ้าหนูไม่ออกมาช่วยแม่ แม่ก็คงไม่ไหวให้น้องๆ เขาเรียนนั่นแหละดีแล้วล่ะจ้า เขาเรียนเก่งๆ กันทั้งนั้น...เราคงพึ่งพาพวกเขาได้ตอนแก่นะแม่นะ...”


ตอนแรกยายยี่สุ่นก็คิดเหมือนลูกสาวแต่วันเวลาและความผันแปรต่างๆ ทำให้แกเริ่มแน่ใจว่าสิ่งที่ลูกสาวและแกเคยคาดหวังไม่มีวันที่จะเป็นไปได้


หลายๆ ครั้งที่แกร่ำๆ จะออกปาฝากฝังลูกสาวคนโตไว้กับน้องๆ แต่พฤติกรรมของลูกชายทั้งสามทำให้แกต้องปิดปากเงียบเก็บงำความรู้สึกทุกข์ท้องกังวลใจและความห่วงใยลูกสาวคนโตไว้แต่เพียงลำพังและเพียงภาวนาให้ลูกสาวได้พบรัก ได้แต่งงานกับคนดีๆ เพื่อว่าวันที่แกต้องลาจากโลกนี้ไปตามวัฎฎจักรของธรรมชาติ แกจะได้นอนตายตาหลับทว่านี่ก็อีกความหวังหนึ่งที่เลือนรางและเป็นไปได้น้อยเต็มที


“หนูไม่ใช่คนสวย ความรู้ก็น้อย ใครเขาจะมาชอบ” ลูกสาวให้เหตุผลด้วยเสียงเรียบๆ มีรอยยิ้มอ่อนๆ บนใบหน้าที่อ้างว่าไม่สวยนั้นบางๆ น้ำเสียงที่พูดไม่ส่อถึงความรู้สึกน้อยใจ สะเทือนใจหรือกระทบกระแทกผู้ใดแต่เป็นพูดของผู้ที่มีจิตใจงามและมีสติอยู่ครบถ้วย “อีกอย่างหนูอยากอยู่กับแม่ไม่อยากแต่งงานออกเรือนไปเลย หนูอยู่อย่างนี้ก็สบายดีแล้วนี่แม่...”


“แต่แม่เป็นห่วงเอ็ง...” ยายยี่สุ่นบอกลูกสาวไปตรงๆ “ถ้าแม่ตายแล้วเอ็งจะอยู่กับใคร เอ็งคิดจะไปพึ่งน้องๆ เขาเหรอ...เอ็งก็รู้นี่ว่าพึ่งพวกเขาได้ยาก”


“จ้ะ...หนูรู้...แต่ไม่เป็นไรหรอก เวลานั้นยังมาไม่ถึง ไว้มาถึงก็คงหาทางออกได้เองแหละ แต่แม่ก็ยังแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรสักหน่อย อย่าเพิ่งพูดเรื่องตงเรื่องตายเลยจ้ะ...”


เมื่อลูกสาวสรุปออกมาในรูปนี้ ยายยี่สุ่นก็ต้องเก็บปากเก็บคำ เก็บความรู้สึกกังวลวิตกทุกข์ร้อนทั้งหมดทั้งมวลไว้ในส่วนลึกอีกเช่นเดิม


ทว่าไม่นานนัก ลูกชายคนโตก็หอบลูกน้อยมาพร้อมกับภรรยา แรกๆ ยายยี่สุ่นกับพวงแสดลูกสาวต่างก็พากันงุนงงกับปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยครั้งเช่นนี้ เพราะตั้งแต่มีครอบครัว ลูกชายคนโตมาเยี่ยมเยียนแกและลูกสาวพร้อมภรรยาแทบจะนับครั้งได้ แต่ในคราครั้งนี้เขามาพร้อมลูกชายคนแรก มาด้วยจุดประสงค์ที่ยายยี่สุ่นและลูกสาวพอจะเดาได้ในทันที กระนั้นการต้อนรับขับสู้และความยินดีต่อการมาเยือนโดยเฉพาะสมาชิกใหม่ก็มีอยู่มากโข


“ฉันเอาตาเบิร์ทมาให้แม่กับพี่พวงช่วยเลี้ยงเพราะครบกำหนดวันลางานแม่เขาแล้ว ตอนนี้คนใช้ที่บ้านก็ไม่มีไอ้ที่เคยมีก็อ้างว่ากลับไปเยี่ยมบ้านที่ไหนได้หายหัวไปเลย ดีที่มันไม่แอบฉกเอาของมีค่าไปด้วย...พวกนังคนใช้นี่ไว้ใจไม่ได้จริงๆ ...” ลูกชายคนโตเล่าอย่างสรูปรวมโดยไม่ยอมแบ่งแยกให้เหลือคนใช้ที่ดีไว้บ้างเลย “ครั้นจะจ้างเขาเลี้ยงก็ไว้ใจใครได้ที่ไหน...ฉันเห็นก็แต่แม่กับพี่พวงนี่แหละที่น่าไว้ใจที่สุด...ช่วยเลี้ยงหลานหน่อยนะแม่...นะพี่พวง...” ตอนท้ายเขาทำเสียงวิงวอนชวนให้น่าเห็นใจ “สายสัมพันธ์จะทิ้งกันยังไงใช่ไหมแม่...เอาเป็นว่าฉันจะให้ค่าเลี้ยงดูเดือนละพัน นม เนย หยูกยาอาหารจะคิดต่างหาก ไว้พอเข้าโรงเรียนหรือฉันหาคนใช้ได้ ฉันจะมารับลูกไป...ตกลงนะแม่...นะพี่พวงนะ...”


มีครั้งไหนบ้างหรือที่ยายยี่สุ่นและลูกสาวจะปฏิเสธการขอร้องของผู้เป็นลูกและน้องได้ แม้ในครั้งนี้จะเป็นภาระที่มิใช่เล็กน้อยเพราะต้องหมายถึงผู้รับภาระจะต้องพร้อมทั้งด้านกำลังกาย กำลังใจ และเวลาซึ่งต้องทุ่มเทให้กับการเลี้ยงเด็กอ่อนที่ไม่มีช่วงให้ผละห่างหรือทอดทิ้งได้เลยแม้แต่เวลาเดียว...


“ถ “ถ้าพันเดียวน้อยไป...ผมให้พันห้าก็ได้”


ลูกชายเสนอทั้งๆ ที่อีกฝ่ายไม่มีทีท่าจะต่อรองขึ้นเลยแม้แต่น้อย


“เรื่องเงินเรื่องทองน่ะไม่สำคัญหรอก” พี่สาวแย้งขึ้นเบาๆ ในลักษณะมองผู้พูดน้อยไม่มากเรื่องและจำยอมมาโดยตลอด “แต่พวกเธอต้องมาดูแลลูกบ้างไม่ใช่ทิ้งไปเลย”


“โธ่...ใครจะทิ้งได้ลง ลูกทั้งคน เบิร์ดมันก็น่ารัก นี่ถ้าไม่ติดขัดที่ทำงานทั้งสองคน เราคงไม่มารบกวนแม่กับพี่พวงหรอก”


“เออ...ข้ารู้แล้วแหละว่าพวกเอ็งมีปัญหา” ยายยี่สุ่นพูดก่อนจะปรารภว่า “ลูกเอ็งชื่ออะไรนะ...ชื่อฝรั่งมังค่าใช่หรือเปล่า ข้าเรียกไม่ถูกหรอก”


ลูกชายหัวเราะ ดูสีหน้าคลายเครียดและคลายความกังวลลงมากเมื่อรู้ผลของการเจรจาที่เป็นไปในทางบวก


“ชื่อเบิร์ดฮะแม่...เบิร์ดแปลว่านก...”


“งั้นข้าเรียกนกก็แล้วกันนะ...ง่ายกว่าที่เอ็งเรียกตั้งเยอะ”


“ตามใจแม่เถอะ...จะเรียกอะไรก็ช่าง แล้วฉันกับดาจะมาดูแลลูกทุกอาทิตย์นะแม่”


“จะมารับไปนอนคืนวันศุกร์กับวันเสาร์ก็ได้นี่ ลูกจะได้อยู่กับพ่อแม่บ้าง”


คำแนะนำอย่างหวังดีของยายยี่สุ่นกลับถูกปฏิเสธพัลวัน”


“ไม่ได้หรอกแม่ วันหยุดผมกับดาต้องพักผ่อนเพราะทำงานมาตั้งห้าวันแล้ว ขืนอดตาหลับขับตานอนดูแลลูกทั้งคืนคงไม่ไหว เราแวะมาดูตอนกลางวันดีกว่า หรือหากวันไหนว่าง ผมกับดาก็จะแวบมาหาก็แล้วกัน”


ผู้มาเยือนขอตัวกลับไปแล้วทิ้งไว้แต่ลูกชายวัยหนึ่งเดือนอันเป็นภาระหนักหน่วงที่พวกเขาไม่อาจแบกรับไว้ แต่ไม่มีเลยสักคำที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้คิดถึงภาระหนักหน่วงที่อีกฝ่ายได้รับไปบ้างแต่อย่างใด ค่าจ้างค่าออนเพียงเงินหนึ่งพันห้าร้อยบาทสำหรับการดูแลเด็กอ่อนทั้งวันและทั้งคืนคงไม่อาจหาผู้ใดรับงานนี้ได้อย่างแน่นอน


ก่อนหน้าที่พวกเขาจะผละไป พวงแสดบอกน้องชายว่า


“เงินพันห้าร้อยบาทที่ให้ พี่จะฝากไว้ให้ตานก ถ้าเกิดเงินขาดมือพี่ค่อยใช้มันก็แล้วกัน”


“แล้วแต่พี่เถอะ เจ้าเบิร์ดมันก็เป็นหลานพี่...พี่ก็ไม่มีครอบครัว...ไม่มีลูก ต่อไปสมบัติพัสถานพี่ก็ยกให้หลานไม่ใช่หรือ...”


ยายยี่สุ่นกับลูกสาวได้แต่นั่งนิ่งงันพูดไม่ออก จนแม้ลูกชายและลูกสะใภ้กลับไปแล้ว ก็ไม่มีคำตำหนิติเตียนหรือคำค่อนขอดจากคนทั้งสอง นอกจากออกอาการทอดถอนใจยาวและเก็บความรู้สึกหลากหลายไว้ภายในอีกเช่นเคย


หนูน้อยหลับปุ๋ยอยู่ในอ้อมกอดของย่าบ้าง ป้าบ้าง ได้รับอาหารดีๆ ที่ป้อนจากมือของย่าและป้าผู้อารี เติบโตมากับเสียงเพลงกล่อมเด็กเอื่อยอ่อนได้ฟังนิทานดีๆ ก่อนนอน ติดสอยห้อยตามย่าและป้าไปตามที่ต่างๆ ความผูกพันระหว่างย่า ป้า และหลานทวีขึ้นทุกวัน...ทุกวัน...ครั้นมาประกอบกับความห่างเหินของพ่อแม่ที่มิได้กระทำตามที่เคยให้สัญญาไว้แต่ตอนแรก เด็กน้อยจึงติดย่าและป้าทบทวี


ในช่วงที่หนูน้อยอายุได้สองขวบ ยายยี่สุ่นก็ล้มเจ็บลงด้วยไข้หวัดธรรมดา แต่เพราะความสูงอายุ และการได้พักผ่อนน้อยทำให้ร่างกายอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว พอเกิดโรคปอดบวมแทรกซ้อน แกก็จากโลกนี้ไปอย่างง่ายดายโดยมิได้มีโอกาสร่ำลาลูกและหลานที่แกรักและผูกพันเลยแม้แต่คำเดียว


พวงแสดร้องไห้กับการสูญเสียครั้งนี้น้ำตาแทบจะเป็นสายเลือด นึกถึงคำพูดของแม่ที่ห่วงใยว่าตนจะอยู่กับใคร หากแกต้องตายจากไป...ตอนนี้พวงแสดได้รับรู้แล้วถึงความมืดมนของคำตอบ เธอเป็นสาวตัวคนเดียว ก็คงจะต้องอยู่คนเดียวแต่ครั้นหันไปเห็นหลานชาย ความหวังของพวงแสดก็ก่อตัวขึ้น ความรัก ความผูกพัน และความหวังว่าตนก็ยังมีหลานชายนี่แหละที่ทำให้เธอมีกำลังใจที่จะยืนหยัดต่อไปอีก


“อยู่กับป้านะลูก...ลูกอย่าทิ้งป้าไปนะ...”


พวงแสดกอดหลานชายไว้แน่น พร่ำพูดในสิ่งที่เด็กน้อยยังมิอาจเข้าใจได้ลึกซึ้งแต่อย่างใด


แต่เมื่อหลานชายมีอายุถึงวัยที่จะเข้าโรงเรียนได้ ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็มาเรียกร้องทวงคืนไปโดยปราศจากความเห็นใจเลยแม้แต่น้อย


“เบิร์ดต้องเข้าโรงเรียนแล้วล่ะพี่...ผมมาขอรับแกไปอยู่ด้วย”


“ให้เข้าโรงเรียนใกล้ๆ นี่ได้มั้ย...ให้แกอยู่กับพี่ พี่รับรองว่าจะดูแลแกอย่างดีที่สุด”


เป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่พี่สาวเป็นฝ่ายวิงวอนขอร้อง ขอความเห็นใจแต่ผลที่ได้ไม่เหมือนกับที่อีกฝ่ายเคยเรียกร้องต้องการ


“ไม่ได้หรอกพี่ ลูกของผมจะเรียนโรงเรียนเล็กๆ กระจอกๆ แถวๆ นี้ได้ยังไง...ไว้พี่ค่อยคอยเลี้ยงเจ้าสองคนนั่นก็แล้วกันนะ ไม่นานคงมีมาให้พี่เลี้ยงแน่...”


“แล้วพี่จะอยู่คนเดียวได้ยังไง...ถ้าไม่มีตานกพี่ก็ไม่มีใครอีกแล้ว พี่ขอร้องเถอะนะ ให้แกโตกว่านี้อีกนิด...ให้เวลาพี่ทำใจ...พี่ตั้งใจไว้แล้วว่าบั้นปลายของชีวิตพี่จะไปให้ชีวิตอยู่ในวัด...


“พี่พวงอย่าพูดเอาแต่ได้ซี พี่คิดถึงแต่ตัวเอง พูดเห็นแก่ได้ ลูกใครใครก็รัก จริงอยู่ดากำลังท้องอ่อนๆ แต่ลูกคนต่อไปเราไม่เอามาให้พี่เลี้ยงอีกหรอก ตอนนี้เรามีเด็กมาอยู่ที่บ้านแล้ว แต่ถึงเราจะมีลูกอีก ตาเบิร์ดก็เป็นลูกเรา เราจะยกให้พี่ง่ายๆ ได้ไง...และที่พี่ว่าพี่อยู่คนเดียวไม่ได้...พี่ก็ไปอยู่วัดเสียแต่ตอนนี้เลยก็ได้พี่ คนในละแวกบ้านย่านนี้ที่พี่รู้จักก็ไปอยู่ที่นั่นกันหลายคน พี่อายุพอสมควรแล้วไปเข้าวัดฟังธรรมอยู่อย่างสงบให้สมวัยจะดีกว่า”


ศาลาท่าน้ำใต้ร่มเงาของต้นตะแบกสูงใหญ่ได้กลายเป็นสถานที่ที่ยายพวงแสดมานั่งร้องเพลงมาลัยไว้บูชาพระหลังเสร็จงานในวัดแล้วทุกๆ วัน พลางก็มักจะมองดูสายน้ำที่ไหลผ่านไปเงียบๆ ...สายน้ำไหลไปแล้วก็จะไม่หวนคืนกลับ เหมือนชีวิตของคนที่ไม่อาจเพรียกเรียกหาความประทับใจบางช่วงของชีวิตให้หวนคืน


ธรรมสถานแห่งนี้ได้ช่วยเยียวยา “ใจดวงหนึ่ง” ที่ต้องอดทน...อดกลั้น ต้องรับความรู้สึกทุกข์ท้อ น้อยใจ หดหู่และอีกหลายๆ ความรู้สึกที่ผู้คนรอบข้างเป็นกลไกป้อนให้มาตั้งแต่วัยเด็กจนล่วงเข้าสู่วัยปลายให้ค่อยๆ สงบลง...สงบลงจนสามารถยอมรับสัจจธรรมของชีวิตได้โดยดุษณี แม้จนหลานชายได้มาเยี่ยมเยือนเมือไม่นานมานี้และจะขอรับตัวไปอยู่ด้วยแกกลับปฏิเสธไปด้วยอาการอันสงบ


“ขอบใจนกมากที่ยังคิดถึงป้า จะมารับข้าไปดูแลในยามแก่เฒ่า ความกตัญญูกตเวทิตาคุณนี้ก็จะส่งผลดีต่อตัวนกเอง แต่ป้าพอใจ และมีความสุขกับการใช้ชีวิตที่นี่แล้ว อย่าดึงป้าไปสู่โลกแห่งความสับสนภายนอกอีกเลย”


หญิงชราร้อยพวงมาลัยมาลิสดเสร็จแล้วก็ค่อยๆ หย่อนมันลงในตะกร้าหวายใบย่อมๆ ที่วางอยู่ข้างตัวอย่างระมัดระวังพลางก็ขยับลุกขึ้น แต่ก่อนจะผละจากที่นั่นแกทอดสวยตาดูสายน้ำอยู่ราวอึดใจ ก่อนจะเดินจากมาเงียบๆ ด้วยอาการอันสงบอย่างผู้ที่ปลงใจให้กับความเป็นไปของชีวิตได้อย่างมั่นคงแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น